วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

เผด็จการเชือดหนังสือฟ้าเดียวกัน ร้ององค์กรสิทธิ-องค์กรสื่อประณามปิดแท่นพิมพ์RED POWER


งานเข้า-กระทรวงวัฒนธรรมดำเนินคดีหนังสือฟ้าเดียวกันข้อหาไม่จดแจ้งการพิมพ์ตามกฎหมาย และจะดำเนินคดีหมิ่นฯด้วย ขณะที่เจ้าของหนังสือกล่าวขอบคุณที่เป็นธุระโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ โดยจะผลิตและจำหน่ายตามปกติ และน่าจะขายดีขึ้นจากข่าวนี้


โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์


เวบไซต์เนชั่น รายงานข่าวว่า นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ( วธ.) เปิดเผยว่า ได้รับทราบการรายงานผลการประชุมปรึกษาหารือการจดแจ้งการพิมพ์ของวารสาร ฟ้าเดียวกัน ซึ่งเป็นวารสารที่วิพากษ์วิจารณ์การเมือง จากสำนักหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามนโยบาย วธ. ในการดำเนินการกับวารสาร สิ่งพิมพ์ ที่ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550

โดยเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา นางวิลาวัณย์ ทรัพย์พันแสน ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ได้แจ้งความไปยังกองบัญชาการตำรวจสันติบาล (ฝ่ายสิ่งพิมพ์) ให้ดำเนินการกับวารสารดังกล่าว เนื่องจากตรวจสอบพบว่ายังไม่มีการจดแจ้งการพิมพ์ตามกฎหมาย พร้อมกันนี้ได้ยื่นขอให้ตรวจสอบเนื้อหาในวารสารที่เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงด้วย อย่างไรก็ตามตนได้รายงานกรณีดังกล่าวนี้ทางวาจาไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“พร้อมกันนี้ผมได้สั่งการให้ ผอ.สำนักหอสมุดแห่งชาติ และผอ.สำนักศิลปากร 15 แห่งทั่วประเทศในฐานะเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.การพิมพ์ ไปตรวจสอบสิ่งพิมพ์ทุกชนิดในทุกจังหวัด ที่ยังไม่ได้ยื่นจดทะเบียนตามกฎหมายให้ไปดำเนินการให้เรียบร้อย หรือแม้แต่ในกรณีที่มีการจดแจ้งการพิมพ์แล้วก็จะต้องตรวจสอบเนื้อหาและภาพในสิ่งพิมพ์ต่างๆ ด้วย โดยต้องไม่เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงหรือจาบจ้วงสถาบัน และหากพบจะถือเป็นความผิดอาญาให้ดำเนินการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที ทั้งนี้ในเบื้องต้นผมได้รับรายงานว่ามีสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนมากที่ยังดำเนินการไม่ถูกต้อง ซึ่งภายหลังจากมีการตรวจสอบทั้งหมดแล้ว ทางสำนักหอสมุดแห่งชาติจะได้รายงานจำนวนที่แน่นอนมาให้ผมรับทราบต่อไป” รมว.วธ. กล่าว

บก. ฟ้าเดียวกันหัวเราะร่า ขอบคุณผอ. สำนักหอสมุดแห่งชาติช่วยโฆษณา “ฟ้าเดียวกัน”

เวบไซต์ประชาไท รายงานว่า นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณานิตยสารฟ้าเดียวกัน ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับประชาไท ด้วยเสียงกลั้วหัวเราะว่า “ขอขอบคุณที่ช่วยโฆษณาให้เรา” พร้อมระบุว่าการแจ้งความดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการขายและการผลิตวารสารฟ้าเดียวกันแต่อย่างใด

“ที่ผ่านมา ร้านหนังสือใหญ่ๆ คือ นายอินทร์ ศูนย์หนังสือจุฬา B2s และ ซีเอ็ด เขาก็ไม่ขายหนังสือเราอยู่แล้ว ก็ไม่มีผลอะไร พื้นฐานเลยคือเรื่องของเสรีภาพในการพิมพ์ ไม่ได้อยู่ที่กฎระเบียบ และคนอ่านก็อ่านเนื้อหา ไม่ได้อ่านว่าเราจดทะเบียนหรือไม่”

ส่วนกรณีที่วารสารดังกล่าวไม่จดทะเบียนการพิมพ์ ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 นั้น นายธนาพลอธิบายว่า เป็นความจงใจของเขาเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการมีพระราชบัญญัติดังกล่าว

“เราจงใจไม่จด เพราะเราคิดว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในการโฆษณา เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองอยู่แล้ว และพระราชบัญญัติที่ออกมานั้นงี่เง่า” นายธนาพลกล่าวว่า เขาเชื่อว่าคดีดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องการเมือง เนื่องจากยังมีวารสารและสิ่งพิมพ์จำนวนมากที่ไม่จดทะเบียนตาม พรบ. จดแจ้งการพิมพ์แต่ไม่ถูกดำเนินการใดๆ โดยเขายืนยันว่าเขาจะยังดำเนินการผลิตวารสารดังกล่าวต่อไป พร้อมชี้แจงถึงกรณีวารสาร “ฟ้าเดียวกัน” ออกวางจำหน่ายล่าช้าไปถึง 2 ไตรมาสว่าเป็นปัญหาในกระบวนการผลิต ไม่ใช่ปัญหาการเมืองแต่อย่างใด

“สำหรับเล่มถัดไปก็จะออกไปตรงตามเวลา คิดว่าฉบับหน้าจะออกมาวางจำหน่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้อย่างแน่นอน” นายธนาพลกล่าวพร้อมหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

เมื่อถามว่า นางวิลาวัณย์ ทรัพย์พันแสน ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้แจ้งความไปยังกองบัญชาการตำรวจสันติบาล (ฝ่ายสิ่งพิมพ์ขอให้ตรวจสอบเนื้อหาในวารสารที่เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง ด้วยนั้น นายธนาพลกล่าวว่า เรื่องไหนที่คิดว่าเข้าข่ายหมิ่นก็ขอให้ฟ้องเป็นเรื่องๆ ไป

สำหรับวารสารฟ้าเดียวกัน เป็นวารสารราย 3 เดือน ขณะนี้ได้ดำเนินการพิมพ์และเผยแพร่มาเป็นปีที่ 8 ฉบับล่าสุด คือฉบับปีที่ 8 ฉบับที่ 1 มกราคม-กันยายน 2553 “ประวัติศาสตร์ไทย ใต้ร่มพระบารมี”

สมยศร้ององค์กรสิทธิ-องค์กรสื่อประณามรัฐเผด็จการอันธพาลปิดแท่นพิมพ์RED POWER

ขณะเดียวกันนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำเสื้อแดง และเจ้าของนิตยสารRED POWER ได้จัดแถลงข่าว ประณามพฤติกรรมอันธพาลการเมืองของรัฐบาลอภิสิทธิ์ กรณีสั่งปิดโรงพิมพ์ และสายส่งของนิตยสาร RED POWER และได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห้งชาติ สมาคมนักหนังสือพิมพ์ องค์การสื่อไร้พรมแดน ให้ร่วมกันประณามพฤติกรรมอันธพาล โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้



กรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ใช้อำนาจพรก.ฉุกเฉิน โดยนายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นำตำรวจกว่า 100 นายเข้าตรวจค้นบริษัทโกลเด้น เพาเวอร์ ซึ่งเป็นโรงพิมพ์รับจ้างพิมพ์นิตยสารRed Power โดยมีนางปัทมา วงเวียน เป็นกรรมการผู้จัดการ สั่งอายัดเครื่องพิมพ์ 11 เครื่อง ต่อมาได้ให้อุตสาหกรรมจังหวัดนนทบุรีแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมดำเนินคดีในข้อหาผิดพรบ.โรงงาน ในเวลาเดียวกันใช้กำลังตำรวจอีก 100 นายบุกเข้าตรวจค้นบริษัทเค เค พับลิชชิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายนิตยสารRed Power สั่งให้ยุติการจัดจำหน่ายและสั่งปรับเป็นเงิน 10,000 บาทเมื่อวันที่ 9กันยายน 2553 ที่ผ่านมา

การกระทำดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนให้กับธุรกิจของบริษัทโกลเด้นเพาเวอร์ และบริษัทเค เค พับลิชชิ่งเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 10 ล้านบาท เนื่องจากทั้งสองบริษัทไมได้รับจ้างแต่เฉพาะนิตยสารRed Powerเท่านั้น แต่รับจ้างผลิตสื่งสิ่งตีพิมพ์ทุกชนิด

การกระทำของรัฐบาลจึงเป็นการกระทำเยี่ยงอันธพาลการเมือง ใช้อำนาจพรก.ฉุกเฉินเสมือนหนึ่งนักเลงโต แสดงอำนาจบาตรใหญ่ เกะกะ ระราน คุกคาม ทำร้าย ผู้อื่น สร้างความหวาดผวาให้เกิดขึ้นกับสุจริตชนทั่วไป เพียงเพราะเหตุที่บุคคลต่างๆเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับนิตยสาร Red Power

ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่า การใช้พรก.ฉุกเฉินของรัฐบาลเป็นไปเพื่อ คุกคามเสรีภาพประชาชน ปราบปรามการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบของประชาชน

การกระทำของรัฐบาลเป็นการกระทำของพวกมือถือสาก ปากถือศีล ในขณะที่เสนอแนวการปรองดองแต่กลับใช้พรก.ฉุกเฉิน ปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ใช้อำนาจบาตรใหญ่ข่มขู่คุกคามจนเกินไป ทำให้สังคมไทยตกอยู่ในสภาพน่าสะพึงกลัว หวาดผวา เป็นรัฐบาลเผด็จการทรราชย์ที่แอบอ้างตนเองมาจากเลือกตั้งอย่างน่าเกลียด นำสังคมไทยไปสู่ความรุนแรงต่อไปโดยไม่สามารถสร้างความสงบสุขปรองดองขึ้นมาได้

Red Power จะดำเนินการผลิตต่อไป แม้ต้องพบกับการปราบปรามจากรัฐบาล โดยจะย้ายสำนักง่านไปตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำการผลิตและจำหน่ายจากเชียงใหม่ รวมทั้งจะระดมทุนขยายงานของ Red Power เป็นรายสัปดาห์ จัดจำหน่ายตรงถึงผู้อ่านทุกจังหวัด

นอกจากนี้จะได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สมาคมนักหนังสือพิมพ์ องค์การสื่อไร้พรมแดน ขอเรียกร้องต่อสื่อมวลชนทุกแขนง องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ร่วมกันประณามพฤติกรรมอันธพาลของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ของสื่อมวลชน หากปล่อยให้รัฐบาลกระทำตนเป็นอันธพาลต่อไปจะนำมาสู่กลียุคและความรุนแรงไม่มีที่สิ้นสุด

วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

นักข่าวถามแทงใจดำทรราชย์ เทือกไปไม่ถูกสวนกลับ"คนไทยรึเปล่า?"


โดย นักข่าวหัวเห็ด
9 กรกฎาคม 2553

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงการพูดจาของคนในพรรคประชาธิปัตย์และเจ้าหน้าที่รัฐช่วงนี้สวนทางกับแนวทางปรองดองของรัฐบาลว่า ไม่หรอก เพราะการปรองดองและสมานฉันท์นั้นไม่ได้หมายความว่าต้องอดทนยอมให้คนฝ่ายฝืนกฎหมายหรือทำผิดกฎหมายหรือทำร้ายประเทศและสถาบันของชาติ ซึ่งคนที่ทำผิดก็ต้องดำเนินคดี ส่วนการปรองดองและสมานฉันท์นั้นเป็นเรื่องของคนไทยทั้งประเทศที่ต้องมีความคิดที่ดีต่อกัน มีความเข้าใจกัน ความคิดเห็นอาจจะแตกต่างในทางการเมือง แต่ต้องระลึกว่าเราเป็นเจ้าของประเทศและเป็นคนไทยด้วยกันจะต้องไม่ทำร้ายกันหรือทำลายบ้านเมือง

เมื่อถามว่า ประชาชนบางส่วนคิดว่าการออกมาชุมนุมเป็นการมาเรียกร้องประชาธิปไตย แล้วเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ไปกระทำเกินกว่าเหตุ นายสุเทพ กล่าวว่า "ตอนที่เกิดเรื่องท่านก็น่าจะเห็นด้วยตัวเองชัดเจนว่า การมาเรียกร้องประชาธิปไตยนั้นไม่มีใครว่าอะไร การจะมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน รัฐบาลก็เห็นและได้ยินซึ่งก็ลงมือแก้ไขแล้ว แต่การเอาปืนมาไล่ยิงทหารหรือยิงประชาชนด้วยกันเอง หรือการไปปฏิบัติการณ์ที่ทำให้ประชาชนทั่วไป ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบปกติสุขได้ ไม่ใช่วิธีการในระบอบประชาธิปไตย"

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า เหตุที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถทำให้ชัดเจนได้ว่าเป็นฝีมือใคร นายสุเทพ กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า "ผมคิดว่าคุณถามอย่างนี้ คุณปฏิเสธความเป็นจริงไปแล้ว เห็นกันอยู่ตำตาแล้วยังบอกว่ายังไม่รู้ใครทำอีก ผมก็ไม่รู้ว่าจะพูดว่าอย่างไร คนไทยด้วยกันนะครับ เป็นเจ้าของประเทศเหมือนกันนะครับ ก็ต้องรู้สึกว่าอะไรเป็นความจริง อย่าเอาความไม่จริงมาเบี่ยงเบน บิดเบือนแล้วก็มาทำให้ประเด็นไปต่างออกไป มาแก้ไขปัญหาตรงที่ความเป็นจริงจะดีกว่า"

เมื่อถามย้ำว่า เหตุที่เกิดขึ้นก็เห็นว่ามันกระทำกันทั้งสองฝ่าย นายสุเทพ กระแอมในลำคอก่อนตอบว่า "น่าเสียดายนะครับที่คนคิดอย่างนั้น ผมต้องตอบตรงๆ ว่าคนที่คิดอย่างนั้นผมสงสารจริงๆ นะครับ" จากนั้นนายสุเทพ พยายามเดินเลี่ยงออกจากวงสัมภาษณ์เพื่อขึ้นไปยังห้องทำงาน เพื่อให้จบการสัมภาษณ์ประจำวัน

ผู้สื่อข่าวจึงถามอีกว่า คนบางส่วนเข้าใจว่าทหารไปไล่ยิงผู้ชุมนุม ศอฉ.จะสอบสวนให้เกิดความกระจ่างหรือไม่ นายสุเทพ ไม่ตอบ แต่ได้หันหน้าไปหาผู้สื่อข่าวพร้อมชี้นิ้วขึ้นและถามว่า "คนไทยหรือเปล่าน้อง"

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สื่อเทศ-องค์กรสิทธิมนุษยชนวิพากษ์ไทยแดนเถื่อน ต้านมาร์คปาหี่ตั้งเด็กในคาถาสอบ19พฤษภาเลือด



ประเด็นที่ถือเป็นการ"ตบหน้ารัฐบาลไทยแบบฉาดใหญ่" คือการที่นักกฎหมายชื่อดังรายนี้ระบุว่าอภิสิทธิ์ไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้วนอกจากจะต้องยอมเปิดทางให้ "หน่วยงานตรวจสอบจากนานาชาติ"เข้ามาสอบสวนเหตุการณ์นองเลือดที่ขึ้นกลางกรุงเทพฯ เพียงสถานเดียวเท่านั้น


โดย นักข่าวหัวเห็ด
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์

ตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีอันต้องถูกโจมตีแบบ "สาดเสียเทเสีย"จากภายนอกประเทศนับครั้งไม่ถ้วน

ซึ่งในจำนวนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลายที่ถาโถมเข้ามานั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เสียงที่ดูจะทำให้รัฐบาลต้องเจ็บๆ แสบๆ คันๆ มากที่สุดเสียงหนึ่งคงหนีไม่พ้นถ้อยแถลงที่หลุดออกมาจากปากของ "รอเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม" ทนายความชื่อดังสัญชาติแคนาดา วัย 54 ปี เจ้าของสำนักงานกฎหมายระดับโลก "อัมสเตอร์ดัม แอนด์ พีร็อฟฟ์"


ซึ่งได้ออกโรงโจมตีรัฐบาลอภิสิทธิ์อย่างรุนแรงว่า"ไร้ความน่าเชื่อถือ"จากกรณีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการตั้งกรรมการอิสระสอบสวนเหตุรุนแรงทางการเมืองในประเทศช่วงที่ผ่านมา

และประเด็นที่ถือเป็นการ"ตบหน้ารัฐบาลไทยแบบฉาดใหญ่" คือการที่นักกฎหมายชื่อดังรายนี้ระบุว่านายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้วนอกจากจะต้องยอมเปิดทางให้ "หน่วยงานตรวจสอบจากนานาชาติ"เข้ามาสอบสวนเหตุการณ์นองเลือดที่ขึ้นกลางกรุงเทพฯ เพียงสถานเดียวเท่านั้น..

ในถ้อยแถลงของอัมสเตอร์ดัมที่มีการนำออกมาเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ส่วนตัว ยังมีการกล่าวโจมตีรัฐบาลไทยด้วยถ้อยคำที่รุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการ"ตราหน้า"ว่า รัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ นั้น ปราศจากความเหมาะสมทุกประการในอันที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็น "ตัวตั้งตัวตี" ในการสอบสวนเหตุการณ์สังหารกลุ่มผู้ประท้วงทางการเมืองในกรุงเทพฯที่ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนที่มีความคิดเห็นตรงข้ามกับรัฐบาลจนทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 90 รายในช่วงที่ผ่านมา

โดยอัมสเตอร์ดัม ซึ่งได้ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า จะขอทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ยังชี้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่สมควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการสอบสวนอิสระดังกล่าวแม้แต่เพียงนิดเดียวเสียด้วยซ้ำ เพราะในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ของไทยได้จัดประเภทให้กลุ่มคนเสื้อแดงมีสถานะเป็น "ผู้ก่อการร้าย" มาโดยตลอด และจนถึงขณะนี้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ยังคงควบคุมตัวกลุ่มผู้ประท้วงทางการเมืองเอาไว้มากกว่า 400 คน โดยยังไม่ได้มีการตั้งข้อกล่าวหา และยังไม่มีการพิจารณาคดีตามกระบวนการทางกฎหมาย

ซึ่งการกระทำของรัฐบาลไทยเช่นนี้กำลังสร้างความกังวลใจให้กับประชาคมระหว่างประเทศอย่างมาก

ยิ่งไปกว่านั้น อัมสเตอร์ดัมซึ่งมีกิตติศัพท์อันโด่งดังไปทั่วโลกว่าหากเขาตัดสินใจรับว่าความให้กับลูกค้ารายใดแล้ว ลูกค้ารายนั้นแทบ " ไม่เคยแพ้คดี " ยังออกโรงสับคณะกรรมการอิสระที่ทางการไทยเป็นผู้ตั้งขึ้นเพื่อให้เข้ามาสอบสวนเหตุรุนแรงทางการเมืองในกรุงเทพฯ ระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค.ว่าเป็นคณะกรรมการที่มี "คุณสมบัติพิเศษ 3 ประการ" อันประกอบไปด้วย การขาดความชอบธรรม, ไม่มีความเป็นกลาง, และไร้อิสระในการทำหน้าที่

ในเว็บไซต์ของอัมสเตอร์ดัมยังมีการเผยแพร่ความเห็นจาก "Human Rights Watch" องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลกซึ่งมีฐานอยู่ที่มหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ที่ออกมาระบุว่า แม้ท่าทีของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ในช่วงไม่กี่วันมานี้ ดูเหมือนจะมีภาพของความพยายามให้เกิดความปรองดอง ด้วยการเสนอแผนสมานฉันท์ 5 ประการ แต่ลึกๆแล้วดูเหมือนนายกรัฐมนตรีของไทยจะยังคงต้องการให้เกิดการเผชิญหน้าต่อไปเสียมากกว่า สังเกตได้จากการตัดสินใจประกาศแต่งตั้ง "คณิต ณ นคร" ให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น

โดยทางฮิวแมน ไรต์ส ว็อตช์ระบุว่า " การไต่สวนแบบข้างเดียว" ที่มีลักษณะของการ "ตั้งเอง ชงเรื่องเอง ตัดสินเอง"ของทางการไทยเช่นที่ว่านี้กำลังจะกลายเป็นตัวทำลายความพยายามของทุกฝ่ายที่กำลังมองหาทางออกให้กับปัญหาทางการเมืองของประเทศไทยที่ยืดเยื้อมานานหลายปี

อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง:องค์กรนิรโทษกรรมสากลเรียกให้นายกฯไทยจัดการสอบสวนอย่างเป็นธรรม


นอกเหนือไปจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์จาก รอเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมและฮิวแมน ไรต์ส ว็อตช์แล้ว ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีการนำเสนอความเห็นของ"ชอว์น ดับเบิลยู.คริสพิน"บรรณาธิการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ"Asia Times" ที่ออกมาระบุว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ "ยุคใหม่ของเผด็จการทหาร"

เนื่องจากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ต้องยอมมอบ"อำนาจพิเศษที่มากล้นเกินกว่าปกติ" ให้กับหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศซึ่งก็คือ "ทหาร"ให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจับกุมคุมขังผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลได้โดยไม่ต้องมีการพิจารณาคดี

รวมถึง ยังปล่อยให้ทหารเข้าไปมีบทบาทในการเซ็นเซอร์การนำเสนอข่าวของสื่อ และห้ามการชุมนุมทางการเมืองอีกด้วย จนทำให้ในขณะนี้มีหลายคนหลายฝ่ายหลงเข้าใจผิดไปแล้วว่า "ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน" หรือ ศอฉ.ดูจะมีบทบาทมากขึ้นทุกขณะจนอาจเปรียบได้กับการเป็น " รัฐบาลเงา" ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เข้าไปทุกทีแล้วในขณะนี้

ขณะเดียวกัน โจชัว เคอร์แลนซิคต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองของภูมิภาคเอเชียได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ล่าสุดของตัวเขาเองเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยลงใน "นิวสวีค" นิตยสารวิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์สัญชาติอเมริกัน โดยมีเนื้อหาที่ระบุว่า "ชื่อเสียงอันดีงาม" ของประเทศไทยในเรื่องของความมีน้ำใจของผู้คน ความรักสงบ และเอกลักษณ์ในเรื่องของการเป็น "สยามเมืองยิ้ม" กำลังจะถึงกาลอวสานเสียแล้ว อันเป็นผลพวงมาจากการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการที่รัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ประกาศว่า ขณะนี้มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมากในรูปของขบวนการใต้ดินเพื่อบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ

เคอร์แลนซิคต์ชี้ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในไทยตอนนี้คล้ายกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในไอร์แลนด์เหนือตลอดหลายสิบปีที่มา โดยเตือนรัฐบาลไทยต้องแก้ปัญหาแบบค่อยเป็นค่อยไป


อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง:รู้สึกร่วม คนในไอร์แลนด์เหนือขึ้นป้าย "ต้องไม่นองเลือดอีก" ให้กับประเทศไทย



แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ต้องเข้าใจ และยอมรับความจริงด้วยว่าความผิดพลาดของนโยบายการบริหารประเทศของไทยในช่วงที่ผ่านมามีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดความแตกแยกและความไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทยอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน บทวิเคราะห์ของเคอร์แลนซิคต์ยังระบุด้วยว่ารัฐบาลไทยทุกชุดที่ผ่านมาไม่เคยมีนโยบายที่จะพัฒนาและปรับปรุงระบบการศึกษาของประเทศอย่างจริงจังอันมีผลทำให้คนไทยขาดโอกาสในการพัฒนาความคิดและศักยภาพของตนเอง

ซึ่งการละเลยของรัฐบาลไทยที่ว่านี้ ไม่แตกต่างอะไรกับการเต็มใจเฝ้าดูพลเมืองของตนมีคุณภาพ"ด้อยลงเรื่อยๆ"อันจะเห็นได้จากกรณีของการวัดระดับความรู้ความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษของนักศึกษาไทยโดยเฉลี่ยที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ "เกือบรั้งท้าย"ของเอเชียมาโดยตลอดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน ทำให้บุคลากรของไทยไม่สามารถก้าวเข้าสู่การแข่งขันในเวทีระดับโลกได้ และทำให้สถานะของไทยที่เคยประกาศตัวว่าจะเป็น"พี่ใหญ่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" กำลังเสื่อมถอยอย่างร้ายแรง จนประเทศไทยแทบไม่มี "ที่อยู่ที่ยืน" ในประชาคมระหว่างประเทศอีกต่อไปแล้ว

เช่นเดียวกับนโยบายด้านอุตสาหกรรมของรัฐบาลไทยที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญแต่เฉพาะการทำให้ไทยกลายเป็นฐานสำหรับรองรับการผลิตสินค้านานาชนิดให้กับต่างชาติเพียงอย่างเดียว โดยไม่เคยให้ความสำคัญกับการพัฒนา " นวัตกรรมของตัวเอง"รวมถึง การโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ของทางการไทยที่มุ่งเน้นให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเป็นจำนวนมากๆ แบบ"เน้นปริมาณ"เพียงอย่างเดียวโดยยังไม่มีแนวทางปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมชัดเจน

มิหนำซ้ำหลายโครงการของภาครัฐยังเป็นตัวการทำลายสภาพแวดล้อมและความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเสียเอง เช่น โครงการตัดถนนผ่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทั้งที่อุทยานแห่งชาติที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของไทยแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็น " มรดกแห่งอาเซียน " มาตั้งแต่ปี 1984 และยังได้รับการคัดเลือกเป็น "แหล่งมรดกโลก" โดยองค์การยูเนสโกตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปี 2005

หรือแม้แต่กรณีการอนุญาตให้กองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามา "ปู้ยี่ปู้ยำ" สภาพแวดล้อมของไทยจนเสียหายยับเยิน เช่น กรณีภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องหนึ่งที่เข้ามาถ่ายทำกันบนเกาะพีพีเล จังหวัดกระบี่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

คำถามจึงอยู่ที่ว่าในขณะนี้มันเกิดอะไรกับสังคมไทยกันแน่ ทำไมคนไทยถึงปล่อยให้ประเทศชาติอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองต้องประสบกับภาวะ"ถอยหลังเข้าคลอง" ในแทบทุกเรื่อง ไม่ใช่แต่เฉพาะในเรื่องการเมือง และมันถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยที่เป็นเจ้าของประเทศจะช่วยกันหยุดยั้งและกำจัดสิ่งเลวร้ายและความเสื่อมถอยต่างๆ

เพื่อช่วยกันนำพาประเทศไทยของเราให้สามารถเริ่มออกก้าวเดินไปข้างหน้าได้อีกครั้งเสียที

วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2553

แถลงการณ์กระตุกสื่อวันนักข่าว:ขอให้ยุติสงครามข่าวจุดชนวนปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตย



แถลงการณ์ชมรมนักข่าวเพื่อเสรีภาพไทย:ในโอกาสวันนักข่าว 5 มีนาคม 2553

ขอเรียกร้องให้สื่อยุติการทำสงครามข่าวเพื่อจุดชนวนนำไปสู่การปราบปรามกลุ่มเสื้อแดง และขอเรียกร้องให้รัฐยุติการใช้สื่อของรัฐบิดเบือนยั่วยุสร้างความเกลียดชังแตกแยกในสังคม และยุติการคุกคามสื่อใหม่ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ


ชมรมนักข่าวเพื่อเสรีภาพไทย ซึ่งเป็นองค์กรกลางประสานงานของผู้สื่อข่าวที่เคลื่อนไหวเพื่อให้ผู้สื่อข่าวนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้วยความเป็นกลาง ไร้การบิดเบือน และสนับสนุนประชาธิปไตย คัดค้านเผด็จการเห็นว่า บทบาทของสื่อสารมวลชนทั้งของรัฐ และเอกชนในปัจจุบัน กำลังหมิ่นเหม่ต่อการตกเป็นเครื่องมือของผู้กุมอำนาจรัฐ และนำเสนอข่าวชี้นำสังคมไปในทางที่มีอคติต่อกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือแม้แต่การใช้สื่อสร้าง"สงครามข่าว"เป็นการชี้นำสาธารณชนให้เกิดการเกลียดชัง ก่อความรุนแรงได้ จึงขอเรียกร้องดังนี้

1.สื่อมวลชนกระแสหลักนำเสนอข่าวโดยขาดการตรวจสอบในกรณีที่เสนอข่าวว่า กลุ่มเสื้อแดงได้ขึ้นบัญชีดำต่อบุคคล 53 รายที่อยู่ในฝ่ายรัฐบาล หรือสนับสนุนรัฐบาล รวมทั้งสื่อที่มีบทบาทสนับสนุนรัฐบาล และโจมตีต่อกลุ่มเสื้อแดงด้วยความอคติบิดเบือน โดยสื่อบางค่ายเช่น ผู้จัดการASTVนำเสนอว่าบุคคลทั้ง53รายตกเป็นเป้าการสังหารของคนเสื้อแดง

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเพียงการไปโพสต์ข้อความในเวบไซต์เสธ.แดง โดยข้อความดังกล่าวไม่ได้บอกว่าบุคคลทั้ง53รายเป็นเป้าหมายการสังหาร หรือขู่เข็ญว่าจะประทุษร้ายแต่อย่างใด เป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์ว่าบุคคลทั้ง53รายนั้น สนับสนุนระบอบเผด็จการอำมาตย์ และทำลายประชาธิปไตย และต่างก็ประสบเคราะห์กรรมตามหลักพุทธศาสนาไปแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นการติชมโดยสุจริตและเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

แต่การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนกลับขาดการตรวจสอบ และนำไปขยายผลว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจะประสงค์ร้ายต่อกลุ่มบุคคลทั้ง53ราย ซึ่งสุ่มเสี่ยงมากว่าเป็นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้วยความอคติลำเอียง และมีจุดประสงค์สร้างความเกลียดชังคนเสื้อแดง และอาจรวมไปถึงการสร้างกระแสเพื่อจุดชนวนให้ปราบปรามประชาชนที่จะจัดการชุมนุมใหญ่ในวันที่14มีนาคมนี้ได้

ลักษณะดังกล่าวไม่แตกต่างไปจากกรณีหนังสือพิมพ์ดาวสยาม และบางกอกโพสต์ตกแต่งภาพรัชทายาท และเป็นชนวนสำคัญนำไปสู่การปราบปรามนักศึกษาประชาชนในกรณี6ตุลาคม2519 แต่คราวนี้ย่ำแย่กว่ามากนัก เพราะไม่ได้มีเพียง2ฉบับ แต่สื่อมวลชนกระแสหลักแทบทั้งหมดกำลังบิดเบือน ตกแต่งข่าวป้ายสีและอาจเป็นชนวนเหตุนำไปสู่การปราบปรามประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยได้

จึงขอเรียกร้องให้ยุติการทำสงครามข่าวเพื่อจุดประสงค์ปูทางหรือจุดชนวนนำไปสู่การปราบปรามประชาชนโดยทันที

2.ที่ผ่านมาสื่อมวลชนกระแสหลักทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนมาก ได้แสดงตนอย่างเด่นชัดว่าขาดจากสถานภาพการเป็นสื่อสารมวลชนที่เป็นกลาง และนำเสนอข่าวเยี่ยงนักวิชาชีพไปแล้ว เพราะนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ทัศนะที่สนับสนุนระบอบอำมาตย์เผด็จการ ให้ร้ายป้ายสีสร้างความเกลียดชัง ชี้นำให้มีการปราบปรามทำลายล้างประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย กลุ่มคนเสื้อแดงอย่างต่อเนื่อง

จึงขอเรียกร้องต่อองค์กรวิชาชีพสื่อ ทั้งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นต้น ได้มีมาตรการกำชับหรือบังคับอย่างมีประสิทธิภาพให้สมาชิกขององค์กรของตนให้ธำรงตนอยู่ในความเป็นกลาง เสนอข่าวอย่างรอบด้าน ไร้อคติ ปราศจากการบิดเบือนชี้นำ และองค์กรวิชาชีพเหล่านี้ต้องแสดงตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีด้วย

3.ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยุติการใช้สื่อของรัฐบิดเบือนสร้างความเกลียดชัง และยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ตลอดทั้งยุติการคุกคามปิดกั้นสื่อที่นำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่ง เช่น วิทยุชุมชน โทรทัศน์ดาวเทียม สื่อใหม่ทางวอินเตอร์เน็ตช่องทางต่างๆ ที่ใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์มใต้กรอบรัฐธรรมนูญ

4.ขอเรียกร้องต่อหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งของรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนช่วยกันเรียกร้องกดดัน และติดตามตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อข้างต้น

ด้วยจิตเจตนาที่เป็นกลาง และสงบสันติ สมานฉันท์

นายไพโรจน์ นิมิบุตร

ประธานชมรม นักข่าวเพื่อเสรีภาพไทย

ติดต่อ:อีเมล์thailand.inc@gmail.com